หน้าเว็บ

กฎหมาย

กฎหมายคืออะไร?
 เชื่อได้เลยว่าทุกคนหรือแทบจะทุกคนในสังคมคงจะรู้จักคำๆนี้เป็นอย่างดี แต่หากจะให้อธิบายความหมายของคำนี้ หลายๆคนคงไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งจริงๆแล้วแม้แต่ในทางวิชาการก็มีการให้นิยามความหมายแตกต่างกันออกไปมากมาย เนื่องจากเป็นการยากที่จะนิยามความหมายออกมาให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่พอจะสรุปได้ดังนี้








กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม







มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากความคิด อุปนิสัย สภาพแวดล้อม เพศ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กฎหมายบางอย่างก็กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน ก็จะสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปแล้ว ก็จะมาจากคนในสังคมนั่นเอง







ลักษณะของกฎหมาย







เราสามารถแยกลักษณะของกฎหมายออกได้เป็น 5 ประการ คือ







1.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ซึ่งจะแตกต่างกับการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม คำสั่งหรือข้อบังคับนั้นมีลักษณะให้เราต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือ เราจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เช่นนี้เราก็จะไม่ถือเป็นกฎหมาย เช่น การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ







2.กฎหมายต้องมาจากรัฐาธิปัตย์หรือผู้ที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในระบอบเผด็จการหรือระบอบการปกครองที่อำนาจการปกครองประเทศอยู่ในมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นกฎหมาย ส่วนในระบอบประชาธิปไตยของเรา ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กฎหมายจึงต้องออกโดยประชาชน คำถามมีอยู่ว่าประชาชนออกกฎหมายได้อย่างไร ก็ออกโดยที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งก็คือสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)นั่นเอง ดังนั้นการเลือก ส.ส. ในการเลือกทั่วไปนั้นนอกจากจะเป็นการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ยังเป็นการเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อทำการออกกฎหมายด้วย







นอกจากดังกล่าวมาข้างต้น อาจมีบางกรณีที่กฎหมายให้อำนาจเฉพาะแก่บุคคลในการออกกฎหมายไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ออกโดยฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี) ฯลฯ







3.กฎหมายต้องใช้บังคับได้โดยทั่วไป คือเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเสมอภาค จะมีใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ หรือทำให้เสียประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น กรณีของฑูตต่างประเทศซึ่งเข้ามาประจำในประเทศไทยอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีอากร หรือหากได้กระทำความผิดอาญา ก็อาจได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย โดยต้องให้ประเทศซึ่งส่งฑูตนั้นมาประจำการดำเนินคดีแทน ฯลฯ







4.กฎหมายต้องใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการประกาศใช้แล้วแม้กฎหมายนั้นจะไม่ได้ใช้มานาน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นยังมีผลใช้บังคับได้อยู่ตลอด กฎหมายจะสิ้นผลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกกฎหมายนั้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเท่านั้น







5.กฎหมายจะต้องมีสภาพบังคับ ถามว่าอะไรคือสภาพบังคับ นั่นก็คือการดำเนินการลงโทษหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบหรือหลาบจำ ไม่กล้ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอีก และรวมไปถึงการเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นด้วย







ตามกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือการลงโทษตามกฎหมาย เช่น การจำคุกหรือการประหารชีวิต ซึ่งมุ่งหมายเพื่อจะลงโทษผู้กระทำความผิดให้เข็ดหลาบ แต่ตามกฎหมายแพ่งฯนั้น สภาพบังคับจะมุ่งหมายไปที่การเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือการบังคับให้กระทำการตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ฯลฯ ซึ่งบางกรณีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายก็อาจต้องต้องถูกบังคับทั้งทางอาญาและทางแพ่งฯในคราวเดียวกันก็ได้







แต่กฎหมายบางอย่างก็อาจไม่มีสภาพบังคับก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้คนต้องปฏิบัติตาม แต่อาจบัญญัติขึ้นเพื่อรับรองสิทธิให้แก่บุคคล หรือทำให้เสียสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถทำนิติกรรมได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคลที่มีอายุ 15 ปีแล้วสามารถทำพินัยกรรมได้ ฯลฯ หรือออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ซึ่งกฎหมายประเภทนี้จะไม่มีโทษทางอาญาหรือทางแพ่งแต่อย่างใด







ที่มาของกฎหมาย







1.ศีลธรรม คือกฎเกณฑ์ของความประพฤติ คำๆนี้ฟังเข้าใจง่ายแต่อธิบายออกมาได้ยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่แต่ละคนเข้าใจได้ในตัวเองและมีความหมายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ความหมายของศีลธรรมของแต่ละคนก็จะมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แม้อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยหลักแล้วก็จะหมายถึง ความรู้สึกผิดชอบหรือความดีงามต่างๆที่ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยสงบสุข ดังนั้นการบัญญัติกฎหมายจึงต้องใช้ศีลธรรมเป็นรากฐาน เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมให้มากที่สุดนั่นเอง







2.จารีตประเพณี คือแบบแผนที่คนในสังคมยอมรับและถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน แต่ละสังคมก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่สภาพแวดล้อม ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ เช่นเดียวกับศีลธรรม การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจารีตประเพณี คนในสังคมนั้นๆก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่สมควรกระทำ จึงนำมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้นๆยอมรับ ตัวอย่างที่สำคัญก็คือกฎหมายในประเทศอังกฤษนั้น ผู้พิพากษาจะใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษา ซึ่งคำพิพากษานั้นถือเป็นกฎหมาย ส่วนประเทศอื่นๆก็มีการนำจารีตประเพณีมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมายเช่นกัน เช่นกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องของการหมั้น การแบ่งมรดก ฯลฯ







3.ศาสนา คือหลักการดำเนินชีวิตหรือข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาบัญญัติขึ้นเพื่อสอนให้คนทุกคนเป็นคนดี เมื่อพูดถึงศาสนาเราก็อาจนึกไปถึงศีลธรรม เพราะสองคำนี้มักจะมาคู่กัน แต่คำว่าศีลธรรมจะมีความหมายกว้างกว่าคำว่าศาสนา เพราะศีลธรรมอาจหมายความรวมเอาหลักคำสอนของทุกศาสนามารวมไว้และความดีงามต่างๆไว้ในคำๆเดียวกัน เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาอิสลาม นั่นหมายถึงศีลธรรม เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาพุทธ นั่นหมายถึงเรากล่าวถึงศีลธรรมเช่นกัน กฎหมายของแต่ละประเทศก็จะบัญญัติขึ้นโดยอาศัยศาสนาเป็นรากฐานด้วย เช่นในประเทศไทยเราในทางอาญาก็จะนำศีล 5 มาใช้ในการบัญญัติกฎหมาย เช่นห้ามฆ่าผู้อื่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม ฯลฯ







4.คำพิพากษาของศาล มีเฉพาะบางประเทศเท่านั้นที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลมาจัดทำเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศอังกฤษ คือใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษาคดีและเพื่อไม่ให้มีกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกก็จะนำคำพิพากษานั้นมาจัดทำเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม หากมีคดีที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันเกิดขึ้นอีก ศาลก็จะตัดสินเหมือนกับคดีก่อนๆ แต่ในหลายๆประเทศคำพิพากษาเป็นเพียงแนวทางในการพิจารณาพิพากษาของศาลเท่านั้น ศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาต่างจากคดีก่อนๆได้ จึงไม่ถือคำพิพากษาของศาลเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศไทยเราเป็นต้น







5.หลักความยุติธรรม(Equity) หลักความยุติธรรมนี้จะต้องมาควบคู่กับกฎหมายเสมอ เพียงแต่ความยุติธรรมของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ดีผู้บัญญัติและผู้ใช้กฎหมายก็จะต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรมด้วยและความยุติธรรมนี้ควรจะอยู่ในระดับที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะถ้าเป็นความยุติธรรมโดยคำนึงถึงคนส่วนน้อยมากกว่า ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมแก่สังคมโดยแท้จริง ตัวอย่างที่สำคัญคือ ในอังกฤษนั้นแต่ก่อนการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นจะฟ้องเรียกได้เฉพาะจำนวนเงินเท่านั้น จะฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย เนื่องจากในบางรายผู้เสียไม่ได้ต้องการเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำต่อกัน ดังนั้นจึงได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมาใช้โดยอนุญาตให้มีการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตามความมุ่งหมายของผู้ที่เสียหายได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดียิ่งขึ้น







6.ความคิดเห็นของนักปราชญ์ ก็คือผู้ทรงความรู้ในทางกฎหมายนั่นเอง อาจจะเป็นนักวิชาการ หรืออาจารย์สอนกฎหมายก็ตาม เนื่องจากนักปราชญ์เหล่านี้จะเป็นผู้ค้นคว้าหลักการและทฤษฎีต่างๆเพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้งกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลอยู่เสมอ ทำให้เกิดหลักการหรือทฤษฎีใหม่ๆที่เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายได้ เช่น แนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ในประเทศรัสเซีย ฯลฯ


ระบบกฎหมาย








ระบบกฎหมายหลักๆในโลกนี้มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆด้วยกัน คือ







1.ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์(Civil Law) หรือก็คือระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร จุดกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรโรมัน ระบบกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็นการรวมรวมเอาจารีตประเภณีหรือกฎหมายต่างๆหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเรียกว่าประมวลกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ชนชั้นที่ถูกปกครองในโรมันจึงมีการเรียกร้องให้ชนชั้นสูงทำการเขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชนชั้นที่ถูกปกครองได้รู้กฎหมายด้วย ซึ่งระบบกฎหมายนี้ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ ตัวอย่างก็เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ







2.ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์(Common Law) หรือก็คือระบบกฎหมายจารีตประเพณี จุดกำเนิดอยู่ที่อังกฤษ เนื่องจากแต่เดิมนั้นประเทศอังกฤษมีชนเผ่าอยู่มากมายหลายชนเผ่าด้วยกัน ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลหลวงหรือศาลพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้จากส่วนกลางไปพิจารณาคดีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดีมากมาย แต่ในภายหลังปัญหาก็ค่อยๆหมดไปเพราะเริ่มมีจารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นสามัญขึ้นโดยศาลหลวงได้ใช้จารีตประเพณีเหล่านี้ในการพิจารณาคดี ในระบบคอมมอน ลอว์แต่เดิมจะไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อศาลใช้จารีตประเพณีในการพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ก็จะมีการบันทึกคำพิพากษานั้นเอาไว้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆไป หาข้อเท็จจริงในคดีต่อๆมาเหมือนกับคดีก่อน ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลก็คือกฎหมายนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ในประเทศอังกฤษก็ใช้ทั้งระบบกฎหมายแบบซีวิล ลอว์และคอมมอน ลอว์ ควบคู่กันไป







3.ระบบกฎหมายสังคมนิยม(Socialist Law) จุดกำเนิดของระบบกฎหมายน้อยู่ที่รัสเซีย แต่เดิมรัสเซียใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่ในภายหลังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ ก็ได้มีการนำหลักการและแนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน มาใช้โดยเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดระเบียบและกลไกในสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการกดขี่ข่มเหง ปราศจากชนชั้นวรรณะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน กฎหมายมีอยู่เพื่อความเท่าเทียม เมื่อใดที่สังคมเกิดความเท่าเทียมกันแล้วกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ส่วนลักษณะของกฎหมายสังคมนิยมนั้นจะมีการผสมผสานระหว่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับจารีตประเพณีเข้าด้วยกัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจารีตประเพณีนั้นเป็นตัวช่วยในการตีความและอุดช่องว่างของกฎหมายเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญก็คือกฎหมายในระบบสังคมนิยมนั้นต้องแฝงหลักการหรือแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน ด้วยเสมอ







4.ระบบกฎหมายศาสนาและประเภณีนิยม ลักษณะของกฎหมายในระบบนี้ โดยเนื้อหาของกฎหมายแล้วก็จะอาศัยศาสนาหรือประเภณีนิยมเป็นฐานในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามกำหนดหน้าที่ของชาวมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ในปัจจุบันประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม กฎหมายอิสลามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก แต่ส่วนกฎหมายในเรื่องอื่นๆก็จะใช้แนวทางของกฎหมายของทางโลกตะวันตก หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในเรื่องครอบครัวและมรดกก็จะต้องนำกฎหมายศาสนาอิสลามมาใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นเฉพาะ 4 จังหวัดดังกล่าวเท่านั้น ส่วนในเรื่องอื่นๆทุกจังหวัดก็จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันรวมไปถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น







ส่วนประเภณีนิยมนั้น คือ สิ่งที่คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่นในประเทศจีนก็มีการนำประเภณีนิยมของนักปราชญ์อย่าง ขงจื้อ มาเป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมาย หรือประเภณีโบราณของลัทธิชินโตก็ใช้เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ฯลฯ







วิวัฒนาการกฎหมายในประเทศไทย







เดิมกฎหมายของประเทศไทยนั้นมีที่มาจากจารีตประเภณี ศาสนา รวมไปถึงพระราชโองการของพระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชศาสตร์” ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยหลักใน “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” จนกระทั่งการเสียเมืองครั้งที่ 2 ให้แก่ประเทศพม่า เอกสารสำคัญทางกฎหมายได้มีการถูกทำลายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยของรัชการที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการรวบรวมกฎหมายขึ้นใหม่แต่ก็เหลือเพียงหนึ่งในสิบของกฎหมายที่มีอยู่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินคดีได้อย่างยุติธรรม รัชกาลที่ 1 จึงทรงชำระสะสางกฎหมายเสียใหม่กลายเป็น “กฎหมายตราสามดวง” ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญของไทยเรา นักวิชาการทั้งหลายถือว่าแม้จริงแล้วกฎหมายตราสามดวงนี้ก็คือกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง







คดีสำคัญที่ก่อให้เกิดกฎหมายตราสามดวงก็คือ “คดีอำแดงป้อม” (อำแดง เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงในสมัยก่อน) คดีนี้มีข้อเท็จจริงคือ นายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ เนื่องจาก อำแดงป้อม ภรรยาของนายบุญศรีเป็นชู้กับ นายราชาอรรถ แต่อำแดงป้อมกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่พระเกษมกลับพิจารณาเข้าข้างอำแดงป้อมแล้วคัดข้อความส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีคำตัดสินให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากการเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย เมื่อรัชการที่ 1 ทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษากันแแล้วให้หย่าตามคำฟ้องนั้นไม่เป็นการยุติธรรม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าพระยาคลังตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว ปรากฎได้ความว่า ชายไม่ผิด หญิงมาขอหย่า ก็สามารถหย่าได้(ตามที่บันทึกใช้คำว่า ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชายหย่าได้) จึงทรงเห็นว่าแม้แต่พระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป ก็ยังอาราธนาพระราชาคณะทั้งปวงให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกให้ถูกต้องได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายผิดเพี้ยนไปก็ควรต้องชำระสะสางให้ถูกต้อง พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกกระหม่อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วยอาลักษณ์ 4 ลูกขุน 3 ราชบัณฑิต 4 จัดการชำระบทกฎหมายให้ถูกต้อง โดยอาศัย “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”(เชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ หรือผู้มีอำนาจเหนือคนธรรมดาแต่งขึ้น เดิมนั้นเป็นของชาวฮินดู เป็นหนังสือในศาสนาพราห์ม) เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดเป็นกฎหมายตราสามดวงขึ้น







ในเวลาต่อมาเกิดการล่าอาณานิคมจากประเทศซีกโลกตะวันตก เช่น ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นก็คือการเสียเอกราชทางศาล เนื่องจากต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยเรากฎหมายป่าเถื่อน ไม่เป็นธรรม เมื่อมีปัญหาหรือคดีเกิดขึ้นก็จะไม่ยอมขึ้นศาลไทย และบีบบังคับให้รัฐบาลของไทยทำสนธิสัญญาซึ่งเรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ได้มีการจัดตั้งศาลกงศุล และศาลต่างประเทศขึ้นเพื่อใช้ในการพิจารณาคดีสำหรับคนชาตินั้นๆโดยเฉพาะ ไม่ใช้กฎหมายของไทยและไม่ขึ้นศาลไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะนำเอาเอกราชทางศาลกลับคืนมา โดยการแก้ไขกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ จึงได้มีส่งข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษากฎหมายที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้มาพัฒนากฎหมาย รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการตรวจแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายขึ้นใหม่ โดยตั้งตณะกรรมการซึ่งมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) เป็นประธาน โดยร่างประมวลกฎหมายอาญาเสร็จก่อน(ในสมัยนั้นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127) อีกทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างกฎหมายอื่นๆด้วย ต่อมาในสมัยรัชการที่ 6 ก็ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และปรกาศใช้ในปี พ.ศ.2468 แรกเริ่มเดิมทีมีเพียง 2 บรรพ คือบรรพ 1 ว่าด้วยบทเบ็ดเสร็จทั่วไป และบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ หลังจากนั้นก็มีการร่างบรรพอื่นๆขึ้นจนครบ 6 บรรพในภายหลัง







ในการปฏิรูประบบกฎหมายจากระบบเดิมที่ล้าสมัยมาเป็นระบบใหม่นั้น ไทยได้รับเอาระบบซีวิล ลอว์มาใช้ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ฝรั่งเศสและเยอรมันใช้กัน โดยระบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรโรมัน เริ่มแรกเดิมทีนั้นคณะกรรมการร่างกฎหมายประสงค์ที่จะนำเอาระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่พัฒนามาเป็นเวลาช้านานจากจารีตประเพณีและระบบสังคมโดยเฉพาะ ตัวบทกฎหมายก็ไม่มีการรวบรวมเอาไว้เป็นหมวดหมู่ทำให้ยากแก่การศึกษา ซึ่งแตกต่างกับระบบซีวิล ลอว์ ที่มีการรวบรวมกฎหมายไว้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระเบียบ ทำให้ง่ายแก่การศึกษาและนำมาใช้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่นอกจากฝรั่งเศสและเยอรมันแล้ว ต่างก็ใช้ระบบกฎหมายนี้ทั้งสิ้ง การที่ประเทศไทยใช้ระบบเดียวกับนานาประเทศก็จะทำให้กฎหมายของไทยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ไทยอาจได้รับเอกราชทางศาลคืนได้ง่ายขึ้น







ดังนั้นประเทศไทยจึงนำเอาระบบซิวิล ลอว์มาใช้ โดยนำกฎหมายของประเทศอื่นๆมาผสานเข้ากันกับกฎหมายไทยดั้งเดิม และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จนในที่สุดก็ได้รับเอกราชทางศาลคืนมา และกฎหมายไทยก็ยังมีการพัฒนาขึ้นมาอีกเรื่อยๆเพื่อสามารถใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จนถึงปัจจุบัน



ลำดับชั้นของกฎหมายในประเทศไทย(ศักดิ์กฎหมาย)








ลำดับชั้นของกฎหมายมีไว้เพื่อบ่งบอกถึงระดับสูงต่ำและความสำคัญของกฎหมายแต่ละประเภทรวมไปถึงภาพรวมของกฎหมายที่ใช้กัน กฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีผลยกเลิกหรือขัดต่อกฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่าไม่ได้ ซึ่งเราจัดลำดับได้ดังนี้







1.กฎหมายแม่บทที่มีศักดิ์สูงที่สุด ได้แก่ รัฐธรรมนูญ







รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์การปกครองและกำหนดโครงสร้างในการจัดตั้งองค์กรบริหารของรัฐ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนรวมไปถึงให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายอื่นๆที่ออกมาจะต้องออกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจะก็จะไม่มีผลใช้บังคับได้ เราอาจเปรียบเทียบอย่างง่ายๆโดยนึกไปถึงผู้ว่าจ้างคนหนึ่ง จ้างผู้รับจ้างให้ก่อสร้างบ้าน โดยให้หัวข้อมาว่าต้องการบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงมั่นคง รูปแบบบ้านเป็นทรงไทย ผู้รับจ้างก็ต้องทำการออกแบบและก่อสร้างให้โครงสร้างบ้านแข็งแรงและออกเป็นแบบทรงไทย ถ้าบ้านออกมาไม่ตรงตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ก็อาจถือได้ว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาได้ หัวข้อที่ผู้ว่าจ้างให้มาอาจเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพียงแต่กำหนดกฎเกณฑ์หรือรูปแบบเอาไว้เป็นแนวทางหรือเป้าหมาย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอาจเปรียบได้กับกฎหมายอื่นๆที่ต้องออกมาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าออกแบบมาหรือสร้างไม่ตรงกับความต้องการก็เปรียบเทียบได้กับการออกกฎหมายอื่นๆมาโดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลเป็นการผิดสัญญาหรืออาจเปรียบเทียบในทางกฎหมายได้ว่ากฎหมายนั้นๆใช้ไม่ได้











2.กฎหมายที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎหมายเหล่านี้ถือว่ามีศักดิ์เป็นลำดับที่สองรองจากรัฐธรรมนูญ







-ประมวลกฎหมาย คือเป็นการรวมรวบเอาหลักกฎหมายในเรื่องใหญ่ๆซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปมาจัดเป็นหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและเพาณิชย์ ฯลฯ ประมวลกฎหมายต่างๆ ถือเป็นกฎหมายที่เป็นหลักทั่วๆไป ที่กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลแต่ละคน บุคคลในสังคมต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรและห้ามประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง และรวมไปถึงการให้ความคุ้มครองต่อสิทธิต่างๆของบุคคลแต่ละคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆที่รัฐธรรมนูญวางไว้







-พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น พระราชบัญญัติล้มละลาย ก็จะเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือพระราชบัญญัติสัญชาติ ก็จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับเรื่องสัญชาติของบุคคล ฯลฯ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาลค่อนข้างมาก เพราะฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ และเสนอกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆให้สภานิติบัญญัติทำการออกนั่นเองและกฎหมายที่ออกมานั้นแม้จะมีการเปลี่ยนฝ่ายบริหารหรือฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็จะมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่ากฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกหรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง







-พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาล เป็นกฎหมายที่ออกใช้ไปพลางก่อนในกรณีที่มีจำเป็นเร่งด่วน หลังจากมีการใช้ไปพลางก่อนแล้ว ในภายหลังพระราชกำหนดนั้นก็อาจกลายเป็นพระราชบัญญัติซึ่งจะมีผลบังคับเป็นการถาวรได้ ถ้าสภานิติบัญญัติให้การอนุมัติ แต่ถ้าสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นก็ตกไป แต่จะไม่ทระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น ซึ่งพระราชกำหนดจะออกได้เฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น คือ กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเพื่อจะป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา







3.กฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ พะราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง







(ก).พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งจะออกได้เฉพาะในกรณีต่อไปนี้คือ



-รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในกิจการอันสำคัญที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ



-โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด คือจะต้องมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดให้อำนาจในการออกไว้ เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร พ.ศ. 2528 กำหนดว่าหากจะเปิดศาลภาษีอากรจังหวัดเมื่อใด ต้องประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ฯลฯ ด้วยการที่พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ดังนั้นจะออกมาขัดกับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทนั้นไม่ได้



-กรณีที่จำเป็นอื่นๆในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย







(ข).กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเป็นผู้ออก โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดจะกำหนดกฎเกณฑ์กว้างๆเอาไว้ ส่วนกฎกระทรวงก็จะมากำหนดรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง เช่น ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลใดเพื่อขายทอดตลาด ผู้ที่มีอำนาจสั่งให้ยึด อายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เราก็ต้องไปศึกษาในกฎกระทรวงอีกชั้นหนึ่งว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งนั้นคือใครบ้าง ฯลฯ







4.กฎหมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออก ได้แก่ เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบังคับสุขาภิบาล ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา







เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับโดยเฉพาะในแต่ละองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ทำการออกได้เช่นกัน เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น หรือเทศบัญญัติ ก็เป็นกฎหมายที่เทศบาลบัญญัติขึ้นใช้บังคับเฉพาะในเขตเทศบาลของตน







ประเภทของกฎหมาย







การแบ่งแยกประเภทกฎหมายที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 ประเภท คือ







1.การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะแห่งการใช้ เป็นการแบ่งแยกโดยพิจารณาถึงลักษณะการใช้กฎหมายเป็นหลัก ได้แก่







-กฎหมายสารบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงเนื้อหาหรือเรื่องทั่วๆไป เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมความประพฤติรวมไปถึงกำหนดสิทธิและหน้าที่ต่างๆของพลเมืองไว้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา



-กฎหมายวิธีสบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการหรือวิธีการที่จะบังคับหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัตินั่นเอง ได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ ตัวอย่างเช่นในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าผู้ใดฆ่าผู้อื่นผู้นั้นมีความผิด แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างไร ไม่มีขั้นตอนการดำเนินการกำหนดไว้ เราก็ต้องอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เราอาจเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างง่ายๆได้ว่า หากเราเปรียบเทียบว่ากฎหมายสารบัญญัติเปรียบได้กับเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในการกรองน้ำให้สะอาด กฎหมายวิธีสบัญญัติก็จะหมายถึงวิธีการใช้เครื่องกรองน้ำนั้นหรือกระบวนการการทำงานของเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของน้ำสะอาดให้เราใช้ดื่มกินนั่นเอง ถ้าเราไม่รู้วิธีใช้หรือไม่มีกระบวนการการกรองน้ำติดตั้งอยู่ในเครื่อง เราก็จะทำการกรองน้ำให้สะอาดไม่ได้ เช่นเดียวกันนี้ถ้าไม่มีกฎหมายวิธีสบัญญัติ การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติก็จะทำได้ยาก เพราะไม่มีแบบแผนและวิธีการแน่นอน ขาดความเป็นระเบียบและไร้ประสิทธิภาพ







2.แบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะของความสัมพันธ์ของคู่กรณี ได้แก่







-กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของแต่ละเอกชน รวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ของเอกชนที่มีต่อเอกชนด้วยกันด้วย กฎหมายเอกชนก็ได้แก่กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแพ่งจะกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่รวมไปถึงความสัมพันธ์ของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนกฎหมายพาณิชย์ก็จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกัน เช่น กำหนดถึงสิทธิแบะหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาซื้อขาย คู่สัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ







-กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างรํฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าที่ของรัฐกับประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง







-กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆในโลกต้องมีการติดต่อมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในการค้า เศรษฐกิจ และการประสานงานช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอาจมาในรูปของสนธิสัญญา จารีตประเพณีหรือความตกลงกันระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศอาจไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ เช่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ฯลฯ







ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับกฎหมาย







กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบและสงบสุข ซึ่งด้วยข้อจำกัดหลายๆประการทำให้กฎหมายไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ในทุกๆเรื่อง เป็นผลทำให้เราคิดว่ากฎหมายไม่ดีบ้าง กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง ไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายบ้าง และมีการแก้ไขกันอยู่เรื่อยไป







แต่เรากำลังมองข้ามจุดสำคัญไปอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายก็เป็นเพียงข้อความหรือตัวหนังสือธรรมดาๆถ้าไม่มีผู้นำกฎหมายนั้นมาใช้ กฎหมายอาจกลายเป็นอาวุธป้องกันตัวที่ดีเยี่ยมถ้าเราใช้มันโดยถูกต้อง แต่กฎหมายก็อาจเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่นได้เช่นกันถ้าใช้มันผิดวิธี ดังนั้นจุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ากฎหมายดีหรือไม่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใช้กฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายในทางที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย จะขาดปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ จริงๆแล้วกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าคนในสังคมอยู่กันอย่างเป็นระเบียบและสงบสุข แต่สังคมแบบนั้นเป็นเพียงสังคมที่อยู่ในอุดมคติเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามกันอย่างมาก ดังนั้นกฎหมายจึงยังมีความจำเป็นตราบเท่าที่ยังมีสังคมอยู่







สิ่งที่สังคมเราต้องช่วยกันดำเนินการในตอนนี้เป็นอันดับแรก ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆตามสภาพสังคมและกาลเวลา แต่เราต้องพัฒนาตัวบุคคลในสังคม พัฒนาตัวผู้ใช้กฎหมาย ให้มีความรู้และมีศีลธรรมควบคู่กันไป กฎหมายนั้นออกโดยคนในสังคมและผู้ใช้ก็คือคนในสังคม ดังนั้นถ้าคนในสังคมมีคุณภาพแล้ว กฎหมายและการใช้บังคับก็จะดีตามไปด้วยนั่นเอง และนี่คือการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นที่ต้นเหตุโดยแท้จริง







ความรู้เพิ่มเติมที่น่าสนใจ







1.กฎหมายจะใช้บังคับได้ ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเมื่อมีการประกาศแล้วจะถือว่าประชาชนทุกคนทราบแล้วว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เนื่องจากราชกิจจานุเบกษาเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ทุกสัปดาห์เพื่อประกาศกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบข้อบังคับ และข้อเท็จจริงที่สำคัญให้แก่ประชาชนได้รับทราบ ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้







2.การตีความกฎหมาย คือการค้นหาความหมายของถ้อยคำในกฎหมายที่ไม่ชัดเจนหรือกำกวม โดยอาจวิเคราะห์ตามตัวอักษรอาศัยพจนานุกรมในการค้นหาความหมาย วิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฯลฯ ในกรณีที่เป็นการตีความกฎหมายที่เป็นโทษ เช่น กฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัดตามตัวอักษร คือกฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะไปตีความเป็นอย่างอื่นเพื่อเอาผิดแก่บุคคลใดๆไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นกฎหมายให้สิทธิ ก็ควรที่จะตีความในทางที่เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณให้มากที่สุด เช่น มาตรา 1627 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือเป็นผู้สืบสันดาน มีสิทธิรับมรดกได้ การรับรองบุตรนั้นโดยทั่วไปจะหมายถึงการจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งถือเป็นการรับรองโดยนิตินัย แต่มาตรานี้มีลักษณะเป็นกฎหมายให้สิทธิแก่บุตรนอกกฎหมาย จึงต้องตีความให้เป็นคุณ ดังนั้นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบิดายอมรับว่าเป็นบุตร แม้จะไม่ได้มีการจดทะเบียนรับรองบุตรก็ตาม(ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา) ก็ถือว่ามีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นกัน เป็นต้น







3.สภานิติบัญญัติหลายๆคนอาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าใดนัก แต่ถ้าเรียกว่ารัฐสภาคงจะเป็นที่รู้จักดีกว่า ซึ่งสภานิติบัญญัติประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา หน้าที่หลักๆก็คือทำการออกกฎหมายอีกทั้งยังมีหน้าที่อื่นๆที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีวาระ 4 ปี ส่วนสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) มีวาระ 6 ปีและจะเป็นติดต่อกันสองสมัยไม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจาก ส.ส.







4.ในการเลือกตั้งใหญ่หรือที่เรียกว่าการเลือกตั้งทั่วไปนั้น พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดก็จะมีสิทธิได้เป็นรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปหัวหน้าพรรคดังกล่าวนั้นก็จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็จะเลือกบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐมนตรีโดยจะเลือกจาก ส.ส.หรือบุคลใดก็ได้ เราเรียกนายกและรัฐมนตรีต่างๆรวมกันว่าคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเหล่านี้ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส. หรือก็คือพ้นจากการเป็นฝ่ายนิติบัญญํติไปเป็นฝ่ายบริหารนั่นเอง











5.การเลือกตั้งที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งก็คือ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. นั่นเอง เนื่องจากวุฒิสภาก็ถือเป็นสภานิติบัญญัติเช่นกัน มีหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบกฎหมายที่จะประกาศใช้ ดโดย ส.ว. จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่เข้าฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังนั้นผู้ที่จะสมัครเป็นเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.ว. จะต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใด เดิมที ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้ง แต่เนื่องจากการแต่งตั้งนั้นทำให้เกิดปัญหาเล่นพรรคเล่นพวกกันมาก จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบเลือกตั้งในปัจจุบัน วุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎรจะแยกจากกันต่างหาก ดังนั้นแม้จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภาก็จะไม่พ้นจากสถานภาพไปด้วย







6.ในส่วนของกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัตินั้น ถ้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแล้วเข้ามาเป็นรัฐบาลมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมากเกินไปในสภา การออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของฝ่ายบริหาร ก็ทำได้ง่าย ซึ่งถ้ารัฐบาลนั้นมีความหวังดีมีความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศชาติจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องดีไป แต่ถ้าหวังแต่เพียงเข้ามากอบโกยประโยชน์เพียงอย่างเดียว ก็อาจเสนอกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกของตน แล้วอาศัยเสียงที่มีมากในสภาผู้แทนราษฎรดันให้กฎหมายนั้นผ่านออกใช้บังคับ ก็อาจจะมีผลเสียต่อประเทศอย่างร้ายแรงได้ นอกจากเรื่องการผลักดันกฎหมายแล้วก็อาจมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น การเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ถ้า ส.ส. เป็นคนของรัฐบาลมากเกินไป การเข้าชื่อเสนอญัตติก็ทำได้ยาก เช่นเดียวกับเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คือ พรรคฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. ไม่ถึง 2 ใน 5 เนื่องจากส่วนมากจะเป็น ส.ส. ของฝ่ายรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถอิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “เผด็จการรัฐสภา”







7.ตามทฤษฎีแล้วฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีการคานอำนาจกัน คือฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติได้ เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างๆ ส่วนฝ่ายบริหารก็มีอำนาจยุบสภาได้ ซึ่งจะทำให้สถานภาพของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ส.ส. กับรัฐบาล อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่กันได้(ลองศึกษาจากความรู้เพิ่มเติมในข้อ 6) ดังนั้นเราจึงต้องเลือกคนดีมีความรู้เข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะได้มีความเป็นกลางและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นไปได้ยากก็ตาม





--------------------------------------------------------------------------------



รอบรู้เกี่ยวกับศาลปกครอง

อำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง



ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา"คดีปกครอง" ซึ่งได้แก่ คดีในลักษณะ ดังต่อไปนี้



1. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว อันได้แก่ การใช้อำนาจที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้เอกชนยินยอมเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ เช่น กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบข้อบังคับต่างๆที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป หรือการออกคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งอนุญาต อนุมัติ คำสั่งแต่งตั้ง ฯลฯ



2. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้เอกชนสร้างสะพาน สร้างถนน

3. มาจากการกระทำละเมิดทางปกครอง หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ เช่น ทางราชการออกคำสั่งปิดโรงงานและก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของโรงงาน หรือเจ้าหน้าที่ละเลยหรือต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการล่าช้าเกินสมควรจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย




4. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น ในเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน หรือแม้กระทั่งในเรื่องที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ แต่โดยปกติสามารถดำเนินการให้เสร็จในระยะเวลาหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆจนเวลาล่วงเลยไปหลายเดือน



5. คดีพิพาททางปกครองอื่นๆ เช่น คดีที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง หรือให้หน่วยงานทางปกครองต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับบุคคลให้กระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด คดีปกครองเหล่านี้ กฎหมายกำหนดว่า ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครองชั้นต้น





สำหรับศาลปกครองสูงสุดนั้น กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้



1. คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น



2. คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท



3. คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี



4. คดีที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด



กล่าวอย่างง่ายๆก็คือ ศาลปกครองชั้นต้นจะเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการพิจารณาคดีปกครอง โดยเป็นศาลแรกที่คู่กรณีจะนำคดีมาฟ้อง ส่วนศาลปกครองสูงสุดก็จะเป็นศาลสูง ที่คอยตรวจสอบคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นอีกครั้งหนึ่งหากคู่กรณีไม่พอใจคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ



ส่วนเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร เรื่องการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) หรือคดีที่อยู่ในอำนาจศาลชำนัญพิเศษ เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และศาลล้มละลาย





การฟ้องคดีปกครอง



การฟ้องคดีถือหลักว่าให้กระทำได้โดยง่าย ไม่มีข้อยุ่งยาก



การฟ้องคดีปกครองนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนให้เป็นภาระแก่ผู้ประสงค์จะฟ้องคดี เว้นแต่เงื่อนไขบางประการที่ต้องกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินคดี อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรืออาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย และยังไม่บังคับให้ต้องมีทนายความในการฟ้องคดีอีกด้วย





เงื่อนไขในการฟ้องคดี



ถึงแม้ว่าการฟ้องคดีปกครองจะกระทำได้โดยง่าย แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการกลั่นแกล้งฟ้องคดีกันอย่างพร่ำเพรื่อหรือโดยไม่มีมูลใดๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ถูกฟ้องคดีและยังเป็นภาระแก่ศาล หรือเพื่อให้การแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายเป็นระบบและมีความชัดเจน เงื่อนไขเหล่านี้ กฎหมายกำหนดไว้เพียง 4 ประการเท่านั้น ได้แก่



1. ผู้ฟ้องคดี



ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของทางราชการ หรือเป็นผู้ที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือเป็นผู้ที่มีข้อโต้แย้งอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องต่อศาลปกครอง



2. ระยะเวลาการฟ้องคดี



ต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโดยหลัก คือ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือภายใน 1 ปี ในกรณีที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของทางราชการ หรือในกรณีที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง



3. คำฟ้อง



ไม่มีแบบฟอร์มบังคับโดยเฉพาะ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมีเนื้อหาสาระให้เข้าใจได้ว่าเป็นคำฟ้อง ซึ่งประกอบด้วยชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและของหน่วยงานที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควร คำขอว่าประสงค์จะให้ศาลสั่งอย่างไรเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายของตน และต้องลงลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี



4. การขอให้มีการแก้ไขเยียวยาในเบื้องต้นก่อนนำเรื่องมาฟ้องศาลปกครอง



หากในเรื่องที่จะฟ้องคดีนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการอย่างใดเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายนั้นเสียก่อน ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการเช่นนั้นให้เสร็จสิ้นแล้วจึงจะมีสิทธิมาฟ้องคดีต่อศาลได้





การยื่นฟ้อง



นอกจากสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองแล้ว ผู้ฟ้องคดีอาจใช้วิธีส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้



ส่วนปัญหาที่ว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลใดนั้น ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้น ก็ถือหลักง่ายๆว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนา หรือที่มูลคดีเกิดขึ้น ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุดก็ต้องยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลปกครองสูงสุด เว้นแต่การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้นๆ





การดำเนินคดีในศาลปกครอง



การดำเนินคดีในศาลปกครองนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะนิติสัมพันธ์ระหว่างทางราชการกับเอกชนไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ต้องใช้ระบบวิธีพิจารณาแบบไต่สวนดังที่กล่าวมาแล้ว ควบคู่กับหลักการให้สิทธิโต้แย้งหรือหลักการฟังความสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ หากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ เพราะเอกสารหลักฐานอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ก็สามารถระบุเหตุขัดข้องเพื่อที่ศาลจะดำเนินการให้ได้พยานหลักฐานนั้นต่อไป หรือเมื่อทางราชการมีคำชี้แจงหรือข้อโต้แย้งอย่างใด จะต้องให้ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบโดยผู้ฟ้องคดีสามารถชี้แจงแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอพยานหลักฐานของตนได้ และในการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกก็ยังเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของฝ่ายตน และอาจมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลได้อีกด้วย



นอกจากนั้น ระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองยังให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างตุลาการศาลปกครองด้วยกัน เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของข้อเท็จจริง กล่าวคือ โดยหลักแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง แต่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงนั้นต่อตุลาการอื่นที่ประกอบเป็นองค์คณะ และต่อ ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งมิใช่ตุลาการในองค์คณะนั้นได้พิจารณาด้วย สำหรับในส่วนของการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี ตุลาการผู้แถลงคดี จะเสนอ คำแถลงการณ์ ซึ่งรวมถึงความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินคดีต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัย อันเปรียบเสมือนเป็นความเห็นของตุลาการคนเดียวว่า หากตนมีหน้าที่ต้องตัดสินคดีเรื่องนั้นตนจะพิพากษาอย่างไร ด้วยเหตุผลประการใด ซึ่งแม้ว่าคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่การให้มีระบบการเสนอ คำแถลงการณ์ ของตุลาการผู้แถลงคดีต่อองค์คณะเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมให้การใช้อำนาจตัดสินคดีขององค์คณะมีความรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะหากองค์คณะไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ โดยหลักก็จะต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะจะมีการเปรียบเทียบข้อวินิจฉัยและเหตุผลของตุลาการผู้แถลงคดีและขององค์คณะได้ง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของผู้แถลงคดีควบคู่กันเสมอ





เขตอำนาจศาลปกครอง



ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 94 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก ให้จัดตั้งศาลปกครองในภูมิภาค ดังต่อไปนี้



(1) ศาลปกครองขอนแก่น ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม



(2) ศาลปกครองชุมพร ตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดระนอง



(3) ศาลปกครองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน



(4) ศาลปกครองนครราชสีมา ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา



(5) ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี



(6) ศาลปกครองจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์



(7) ศาลปกครองพิษณุโลก ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดสุโขทัย



( ศาลปกครองแพร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์



(9) ศาลปกครองยะลา ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา



(10) ศาลปกครองระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้ว



(11) ศาลปกครองลพบุรี ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนครนายก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง



(12) ศาลปกครองสกลนคร ตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนคร โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร



(13) ศาลปกครองสงขลา ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล



(14) ศาลปกครองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี



(15) ศาลปกครองอุดรธานี ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี



(16) ศาลปกครองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ